ภาวะโรคสมองเสื่อมหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) คือผู้ที่มีอาการผิดปกติในส่วนของความจำ ความคิด และการรับรู้ต่างๆ ส่งผลให้การตัดสินใจหรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบไปด้วย ในกรณีร้ายแรงผู้ป่วยบางคนอาจไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะพบโรคสมองเสื่อมในวัยผู้สูงอายุ ด้วยสาเหตุหลักก็มาจากการที่อายุเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับใครที่รู้สึกหลงๆ ลืมๆ อยู่ตอนนี้อย่าเพิ่งกังวลไปเพราะอาการหลงลืมชั่วขณะอาจมีสาเหตุมาจากความหลงลืมตามช่วงวัย อาทิเช่น การลืมสิ่งของ ,การลืมวันสำคัญ หรือการนึกเรื่องที่จะเล่าไม่ออก แต่เมื่อพยายามคิดหรือมีคนทักถามก็จะสามารถจำขึ้นมาได้ แต่สำหรับภาวะโรคสมองเสื่อมจะเป็นอาการที่ลืมแล้วลืมเลย อาทิเช่น ลืมวิธีการขับรถ ,ลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ ,ลืมชื่อตัวเองหรือชื่อคนในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากกับตัวเองและคนรอบข้าง
โรคสมองเสื่อมแบ่งออกเป็นกี่ระยะ ?
เราจะสามารถแบ่งโรคสมองเสื่อมได้เป็นสามระยะ อันได้แก่ ระยะแรก ระยะกลาง และระยะท้าย โดยสังเกตได้จากอาการเบื้องต้นดังต่อไปนี้
ระยะแรก : มีอาการพูดเรื่องเดิมๆ ถามเรื่องซ้ำๆ หงุดหงิดได้ง่าย
ระยะกลาง : ความจำและความคิดแย่ลง จำทางไปทำงานหรือจำทางกลับบ้านไม่ถูก จะเริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียวและก้าวร้าวขึ้น
ระยะท้าย : สูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิเช่น การลืมวิธีทานข้าว ,การลืมวิธีอาบน้ำ หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ ถือเป็นระยะที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
อาการของโรคสมองเสื่อม
ภาวะโรคสมองเสื่อมหากอยู่ระยะเริ่มแรกหลายคนอาจไม่ทันสังเกตเพราะไม่ใช่เป็นโรคที่ปรากฏอาการเจ็บป่วยให้เราเห็นได้ชัดเจน แต่จะเป็นภาวะที่สมองค่อยๆ เสื่อมอยู่ภายในส่งผลให้อาจได้รับการรักษาได้ไม่เร็วเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นเราจึงขอสรุปรวมอาการของโรคสมองเสื่อมมาแบบฉบับสั้นๆ เพื่อจะนำไปสังเกตตัวเองและคนรอบข้างที่เรารัก
- เริ่มจำสิ่งที่ทำในกิจวัตรประจำวันไม่ได้
- ถามเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ
- มีปัญหาในเรื่องการจำทิศทาง
- ใช้เวลานึกคำพูดหรือคำศัพท์ที่นานกว่าปกติ
- วางสิ่งของผิดที่ผิดทาง
- อารมณ์หงุดหงิดและฉุนเฉียวง่าย
- หลงลืมทักษะที่เคยทำได้ อาทิเช่น การอาบน้ำ ,การขับขี่รถ ,การกินข้าว หรือภาษาที่ใช้ เป็นต้น
สาเหตุของโรคสมองเสื่อม
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมส่วนใหญ่จะพบในวัยผู้สูงอายุซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่อายุเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายสาเหตุและหลายปัจจัยที่นำมาซึ่งโรคสมองเสื่อมได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากความผิดปกติภายในร่างกายหรือสาเหตุภายนอกอื่นๆ ดังต่อไปนี้
- การเสื่อมของเนื้อสมองที่เรียกกันว่า B-Amyloid และร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้อีกครั้ง
- การอักเสบหรือการติดเชื้อรุนแรงที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง
- โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดอย่างโรคหลอดเลือดตีบตันทำให้เลือดไปเลี้ยงในส่วนของสมองไม่เพียงพอ
- การได้รับการกระทบกระเทือนที่สมองอย่างรุนแรง
- การเป็นเนื้องอกในสมองที่อาจส่งผลกระทบให้สมองเสียหาย
- การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ส่งผลให้สมองขาดวิตามินที่จำเป็นต่อการบำรุง เช่น วิตามินบี 1 และวิตามินบี 12
- การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ