ภาวะกระดูกสันหลังคดสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย และอาจเกิดจากพันธุกรรมซึ่งส่วนมากมักพบตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือมักพบในช่วงอายุประมาณ 10-15 ปี โดยช่วงอายุดังกล่างเป็นช่วงการเจริญเติบโตของกระดูกอย่างรวดเร็ว หลายครอบครัวอาจมองข้ามปัญหา เพิกเฉยคิดว่าไม่มีผลในระยะยาวจึงละเลย และไม่มีการป้องกันหรือเข้ารักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เกิดอาการ ซึ่งบางรายปล่อยให้อาการรุนแรงจนถึงขั้นเดินตัวเอียง หรือมีอาการปวดหลังรุนแรงก่อนถึงจะเข้าปรึกษาแพทย์ และรักษาโรคกระดูกสันหลังคดในลำดับต่อไป ซึ่งการรักษา และแก้ไขโรคกระดูกสันหลังคดให้กลับมาในสภาวะปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้นั้น ต้องอาศัยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้ารักษาร่วมด้วย
โรคกระดูกสันหลังคดคืออะไร
โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ อาการผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังที่มีอาการโค้งงอ คดโค้ง กระดูกบิดเบี้ยวผิดรูปซึ่งโดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีกระดูกสันหลังในลักษณะตรง ผู้ที่มีอาการโรคกระดูกสันหลังคดส่งผลให้กระดูกมีลักษณะโค้งงอคล้ายอักษรตัว C และหากเพิกเฉยหรือปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจจะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นโดยกระดูกจะมีลักษณะคดโค้งคล้ายอักษรตัว S เป็นลักษณะกระดูกคด 2 ตำแหน่ง ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเนื่องจากโรคกระดูกสันหลังคดจะทำให้ร่างกายเสียสมดุลในการทรงตัว เดินเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือเดินผิดปกตินั่นเอง
6 สัญญาณเช็คอาการเบื้องต้นโรคกระดูกสันหลังคด
- ระดับแนวหัวไหล่หรือระดับสะโพกสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน
- กระดูกสะบักโก่งนูนมากขึ้น
- ร่องเอวสองข้างไม่เท่ากัน คล้ายเอวเบี้ยว
- ก้มแล้วแนวกระดูกสันหลังคด ไม่ตรง
- ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง จนทำให้เดินผิดปกติ
- มีอาการปวดศีรษะ หรือปวดหลังรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
วิธีรักษาโรคกระดูกสันหลังคด
- การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยการออกกำลังกาย และทำกายภาพบำบัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการโดยแพทย์จะมีการแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมพร้อมทั้งการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
- การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยการใส่เสื้อเกาะดัดหลัง เหมาะสำหรับผู้ป่วยมีอาการไม่มาก หรือเหมาะสำหรับผู้ป่วยวัยเด็กช่วงวัยของการเจริญเติบโต โดยการใส่เสื้อเกาะดัดหลังไว้ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาอาบน้ำ และเวลาออกกำลังกาย หรือจะสวมใส่เฉพาะเวลานอนก็ได้
- การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท หรือผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วย 2 วิธีข้างต้นแล้วไม่เห็นผล